Last updated: 2019-01-30 | 260 จำนวนผู้เข้าชม |
มลพิษ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลเสียต่อทั้งสภาพแวดล้อม การดำรงชีวิต และสุขภาพของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มลพิษทางอากาศ เพราะเราต้องหายใจเอาอากาศเข้าร่างกายทุกวัน เมื่ออากาศเป็นพิษ ฝุ่นละอองปกคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ นั่นเท่ากับว่า เราสูดเอาอากาศเป็นพิษเข้าร่างกาย มลพิษทางอากาศที่เราสูดดมเข้าไปนั้น ไม่ได้ส่งผลเสียกับแค่อวัยวะ หรือระบบใดระบบหนึ่งในร่างกาย แต่ทำร้ายร่างกายเราได้แทบทุกส่วน
มลพิษทางอากาศ คืออะไร
มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) คือ ภาวะอากาศที่มีฝุ่นละออง (Particulate Matter) สารเคมี สารประกอบ โมเลกุลชีวภาพ หรือวัตถุที่เป็นพิษเจือปนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ พืช และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือวัสดุต่างๆ
สารเจือปนในอากาศ หรือมลพิษทางอากาศที่พบอาจอยู่ในรูปของก๊าซ หยดของเหลว หรืออนุภาคของแข็ง มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองจากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด ไฟไหม้ป่า และเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ การสูบบุหรี่ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศมากที่สุดก็คือ การใช้ยานพาหนะ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การทำการเกษตร และกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น
ผลเสียต่อร่างกาย…มีมากกว่าแค่ที่ปอด
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปี มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 7 ล้านราย หนึ่งในสามของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งปอด และโรคหัวใจก็มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ ความจริงแล้ว ฝุ่นละออง ควันพิษ และมลพิษทางอากาศรูปแบบต่างๆ ที่เรารับเข้าไปในร่างกาย ไม่ได้ทำร้ายแค่ปอดอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่เป็นภัยต่ออวัยวะหลายส่วน และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย เช่น
-ทำให้เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ และวิตกกังวล
-ทำให้ปอดต้องทำงานหนักขึ้น
-ทำให้เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ
-สร้างความเสียหายให้กับหัวใจและหลอดเลือด
-ทำให้ดวงตา จมูก และลำคอระคายเคือง
-ทำลายอวัยวะและระบบสืบพันธุ์
-ทำร้ายตับ ม้าม และเลือด
-ทำลายระบบประสาท
อากาศเป็นพิษ ใครบ้างที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
-ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี และผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
-ผู้ที่เป็นโรคปอด เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
-สตรีมีครรภ์
-ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือนอกอาคาร
-ผู้สูงอายุ
-เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี
-ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำ
มลพิษทางอากาศมากมาย…ป้องกันสุขภาพอย่างไรดี
การรับมลพิษทางอากาศเข้าสู่ร่างกาย สามารถทำร้ายสุขภาพได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คุณจึงไม่ควรชะล่าใจ และควรป้องกันสุขภาพด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
-ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะการผลิตกระแสไฟฟ้าถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สร้างมลพิษทางอากาศ เมื่อมลพิษน้อยลง ก็เท่ากับความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพลดลงไปด้วย
ตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศรายวันในพื้นที่ จากเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชัน ก่อนออกจากบ้าน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
-หลีกเลี่ยงการเดินริมถนน ในช่วงเวลาที่มีการจราจรหนาแน่น หรือหากจำเป็นและมีเด็กไปด้วย ควรอุ้มเด็กให้อยู่สูงกว่าระดับท่อไอเสียรถยนต์
-งดทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงเวลา และบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูง และไม่ปล่อยให้ลูกหลานใช้เวลาอยู่นอกบ้านนานเกินไป
-ไม่ออกกำลังกายในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น พื้นที่ว่างตามสี่แยกไฟแดง เพราะถึงแม้ข้อมูลคุณภาพอากาศรายวันจะแจ้งว่าคุณภาพอากาศในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แต่การจราจรที่คับคั่ง ก็สามารถสร้างและกระจายมลพิษไปได้ในรัศมีกว่า 500 เมตร
-ใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรืออาจเลือกเดิน ปั่นจักรยาน หากจุดหมายปลายทางอยู่ใกล้ๆ
-สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือต้องสัญจรผ่านพื้นที่ที่มีฝุ่นละออง
ขอบคุณข้อมูลจาก :อนันตา นานา https://hellokhunmor.com/author/hellodoktor/
Jul 12, 2019
Aug 01, 2019
Apr 22, 2019