3 ข้อเล็กๆ ที่ช่วยให้เขียนคอนเทนต์ได้อย่างมีเอกลักษณ์

- การเล่าเรื่อง
แน่นอนว่าการเล่าเรื่องที่ดี ย่อมทำให้ผู้อ่านอยากติดตาม และอยากที่จะอ่านไปจนจบ… ในขณะเดียวกัน หากเล่าเรื่องได้วกวน ซ้ำไปซ้ำมา ก็ทำให้ผู้อ่านไม่อยากที่จะอ่านต่อไปเช่นกัน เราจะเห็นว่าในบางครั้ง เรื่องธรรมดาๆ ที่ไม่ได้หวือหวาอะไรมากนัก กลับดูน่าสนใจ น่าอ่าน อ่านแล้วรู้สึกสนุกจนไม่อยากให้จบ ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่า ผู้ที่เขียนเรื่องนั้นๆ มีทักษะการเล่าเรื่องที่ดีนั่นเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเล่าเรื่องที่ดีนั้น เกิดจากการวางแผนก่อนลงมือเขียน โดยวางแผนตั้งแต่วัตถุประสงค์ของการเขียน สิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอด แง่มุมที่ต้องการนำเสนอ การวางโครงเรื่องตั้งแต่ต้น กลาง จบ เมื่อลงมือเขียนจึงทำให้เขียนได้อย่างลื่นไหล และมีเอกลักษณ์ในแบบที่เป็นตัวเรา - สำนวนการเขียนที่ใช้
สำนวนการเขียนหรือสำนวนภาษา เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้งานเขียนของเรามีเอกลักษณ์ ยิ่งถ้าหากเราใช้สำนวนที่เป็นตัวเองมากเท่าไหร่ ผู้อ่านก็จะเกิดการจดจำ เมื่อได้อ่านในครั้งต่อๆ ไป ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าผู้เขียนนั้นคือเรา ทั้งนี้ คำและสำนวนภาษาที่ใช้เขียน อาจขึ้นอยู่กับประเภทของงานที่เราเขียน แต่ก็สามารถสอดแทรกสำนวนที่บ่งบอกถึงตัวเราได้ เช่น สำนวนขบขันเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผู้เอ่านเกิดรอยยิ้ม สำนวนการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพยิ่งขึ้น สำนวนที่ออกแนวชวนผู้อ่านพูดคุย หรือจะเป็นสำนวนอื่นๆ ตามที่เราอยากถ่ายทอดก็ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับหนึ่งของการเขียนให้ได้สำนวนที่ลื่นไหลและน่าอ่านนั้น ก็คือการอ่านงานเขียนที่ดีต่างๆ มาให้เยอะที่สุด จนตัวเราเกิดการตกผลึกนั่นเอง - เรื่องที่หยิบยกมาถ่ายทอด
บางครั้ง เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เทคนิคแพรวพราวในการเขียนเสมอไป เพราะการเลือกประเด็น หรือเรื่องที่จะนำมาเขียนนั้น ก็สามารถสร้างเอกลักษณ์และทำให้เกิดความสนใจได้ไม่น้อยเช่นกัน เรื่องที่นำมาเขียน อาจจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เรามีความรู้ มีข้อมูล หรือเข้าใจในเรื่องราวนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งนี้ อาจจะเป็นเรื่องเชิงวิชาการ, เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเกิดคำถามและข้อสงสัย , เรื่องที่เราพบเจออยู่รอบตัว แล้วมองเห็นแง่มุมบางอย่าง หรือเรื่องที่เน้นความบันเทิง แต่สอดแทรกสาระเล็กๆ น้อยๆ ตามสไตล์ที่เราถนัดก็ได้
เมื่อเราเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดีจนได้รับการยอมรับจากผู้อ่านแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องนั้นๆ ชื่อของเรา ก็จะเป็นชื่อที่ใครหลายคนนึกถึงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นอกจากงานเขียนที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งมีเนื้อหาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้อ่านได้แล้ว ในการเผยแพร่งานเขียนบนสื่อออนไลน์ ก็ยังไม่ควรมองข้ามเรื่องของ SEO เพื่อทำให้ผู้อ่านค้นพบงานเขียนของเราและเข้าถึงได้ง่ายด้วยเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.digitalmarketingwow.com
ภาพจาก www.rainmaker.in.th